Interview : ดร. สุภาพรรณ เสราภิน

posted in: ATPAC Members Interview | 0

นอกจากการสอนที่โดดเด่นของ ดร. สุภาพรรณ เสราภิน แล้ว นักศึกษาใน University of Arizona ยังรู้จักเธอดีในฐานะแม่ครัวอาหารไทยฝีมือเยี่ยมด้วยเช่นกัน ปัจจุบันนี้ ดร. สุภาพรรณ เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม-วัสดุศาสตร์ College of Engineering และสอนที่ College of Optical Science และDepartment of Agriculture and Biosystem Engineering,
College of Agriculture and Life Sciences

นอกเหนือจากงานสอนประจำวัน ทุกๆ สัปดาห์ ดร. สุภาพรรณยังจัดกิจกรรมประกอบอาหารไทยที่หอพักนักศึกษาของมหาวิยาลัย http://www.youtube.com/watch?v=GInYsAF6hLw   โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อสร้างสังคมแห่งการอยู่อาศัยเพื่อการเรียนรู้ (Living-learning community) ให้เกิดขึ้นในเขตมหาวิทยาลัย และยังสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ภายนอกห้องเรียน รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์และการพึ่งพากันและกันระหว่างนักศึกษา ไม่เพียงแต่กิจกรรมต่างๆ และฝีมือการปรุงอาหารไทยที่ทำให้นักเรียนชื่นชม นักศึกษาเหล่านั้นยังประทับใจในการเรียนการสอนและความทุ่มเทเอาใจใส่ของ ดร. สุภาพรรณ และทำให้วิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เธอสอน ยังเป็นวิชายอดนิยมในหมู่นักศึกษาอีกด้วย

ดร. สุภาพรรณ ได้รับปริญญาตรีในสาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโทในสาขาเทคโนโลยีด้านพลังงาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธรบุรี จากนั้น ดร. สุภาพรรณได้ใช้เวลาอีก 18 เดือนในการทำวิจัยสาขา Engineering Science ที่ Kyoto University เมือง Kyoto ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาที่มีชื่อว่า Monbusho Scholarship ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีเกียรติของประเทศญี่ปุ่น และ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขา Materials Science and Engineer จาก Arizona State University เมือง Tempe รัฐ Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา

ความสำเร็จทางการศึกษา และการเป็นอาจารย์ขวัญใจนักศึกษาจำนวนมากของ ดร. สุภาพรรณ มีความเป็นมาอย่างไร สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ขอนำบทสัมภาษณ์ของ ดร. สุภาพรรณ ให้ทุกท่านได้รับทราบกัน

คำถาม เหตุผลใดที่ทำให้ อาจารย์เลือกศึกษาและทำงานในสายเคมี วัศดุศาสตร์ และวิศวกรรม?

ดิฉันมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ ดิฉันยังจำได้ว่าในตอนนั้น ดิฉันมีความสงสัยในสิ่งต่างๆ เช่น สบู่ทำความสะอาดมือของเราได้อย่างไร แชมพูทำความสะอาดผมของเราได้อย่างไร ผงซักฟอกทำความสะอาดเสื้อผ้าของเราได้อย่างไร ส่วนใหญ่ดิฉันมักจะคิดถึงสิ่งต่างๆ ในมุมมองระดับอะตอมและโมเลกุล ระหว่างที่ดิฉันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดิฉันได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า (Electroplating) เพื่อผลิต Black Chrome ซึ่งเป็นผิวเลือกรังสี (Selective Surfaces) สำหรับการแปรผันพลังงานอุณหภูมิ (Solar Thermal Energy) ในตอนนั้น ดิฉันได้เรียนรู้แนวความคิดทางวิศวกรรมหลายๆ อย่าง เช่น Optimization, เงื่อนไขของตัวแปร (Constraints of design parameters) และดัชนีชี้วัดการทำงาน (Performance index) จึงเป็นการจุดประกายให้ดิฉันเลือกเรียนเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมเนื่องจาก ดิฉันเชื่อว่าในทุกๆ กระบวนการในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุต่างๆ เพื่อให้มีราคาที่เป็นเหตุเป็นผล มีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

 

คำถาม อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยและต่างประเทศ?

สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือ ผู้เรียนจะต้องมีความอุสาหะพยายามอย่างมาก แต่การที่จะมีความอุสาหะพยายามจะต้องมีใจรักและความสนใจในสิ่งที่ทำ คนที่อยากจะเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องมีความสนใจในธรรมชาติและพยายามที่จะเข้าใจการทำงานของธรรมชาติ แม้ว่าในการเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์มีข้อมูลจำนวนมากที่จะต้องเรียนและจดจำ แต่มันจะง่ายขึ้นมาก เมื่อมีคำถามหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของสิ่งต่างๆ ที่สามารถกระตุ้นหรือท้าทายเราให้เรามีความรู้สึกตื่นเต้นได้

สำหรับการศึกษาต่อในต่างประเทศ ดิฉันคิดว่าความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับนักเรียนในต่างแดน โดยเฉพาะนักเรียนส่วนใหญ่ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย และไม่เคยมีประสบการณ์ในโรงเรียนนานาชาติมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ได้แล้ว การเรียนในต่างประเทศก็ไม่ยากหรือง่ายไปกว่าการเรียนในประเทศบ้านเกิด และขณะเดียวกัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาต่อต่างประเทศด้านหนึ่งคือ การได้มีความรู้ในภาษาใหม่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ การใช้ชีวิตอยู่ระหว่างประเทศช่วยให้เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะเราต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องเอาชนะความคิดถึงบ้าน และต้องพยายามหาเพื่อนใหม่

คำถาม ขอให้อาจารย์กรุณาช่วยบอกเล่าเกี่ยวกับผลงานการวิจัยที่กำลังทำอยู่ขณะนี้และงานดังกล่าวมีความสำคัญต่อภาคการผลิตและภาคสังคมอย่างไร

ดิฉันได้ทำการวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ Carbon 60 และ Carbon Nanotubes (CNTs) ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยวัสดุทั้งสองมีลักษณะเฉพาะตัวจำนวนมากที่ไม่เหมือนวัสดุชนิดอื่นๆ  งานวิจัยของนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างของวัสดุดังกล่าวในระดับนาโนเมตร (Nanometer) ให้เข้ากับกระบวนการการเติบโตและความเข้าใจในกลไกในการเติบโต โดย CNTs สามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปได้หลายรูปทรงและหลายรูปแบบ เช่น รูปทรงกรวยและทรงกระบอกแบบผนังชั้นเดียว (single-wall) ผนังสองชั้น (Double-wall) และหลายชั้น (Multiple-wall) และยังมีตัวอย่างการนำ CNTs ไปประยุกต์ใช้ที่ดิฉันได้ทำการศึกษา เช่น  การผลิตจอคอมพิวเตอร์แบบแบน (Flat panel display) และ อุปกรณ์การสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ CNTs มาใช้ในเชิงพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกซักระยะหนึ่ง และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำวิจัยและพัฒนา

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ดิฉันได้ร่วมมือกับนักวิจัยหลายๆ ท่านจากประเทศไทยศึกษาเกี่ยวกับ อนุภาคนาโน (Nanoparticles) เช่น ไททาเนีย (Titania) ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) และ วัสดุแม่เหล็กชนิด Ferromagnetic Materials อนุภาคเหล่านี้มีลักษณะที่น่าสนใจเมื่อวัสดุเหล่านี้มีขนาดระดับนาโนเมตรโดยการคัดคุณสมบัติทางพื้นผิวที่โดดเด่น (surface dominant properties) และการจำกัดทางควอนตัม (Quantum Confinement)

คำถาม มีเทคโนโลยี หรือทฤษฎีในสาขาวัสดุศาสตร์ที่เกิดใหม่ใดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย และมีปัญหาหรือข้อจำกัดใดหรือไม่?

มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นในเมืองไทยที่เกี่ยวกับ Cabon nanotubes และ อนุภาคนาโน ซึ่งผลที่ออกมาไม่ปรากฏปัญหาหรืออุปสรรคในการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้งานเลย งานวิจัยหลายๆ ชิ้นมีความพยายามที่จะผลิตอนุภาคนาโนด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในงานวิจัยบางชิ้น นักวิจัยพยายามที่จะนำอนุภาคนาโนไปใช้ในการทำความสะอาดขยะทางสิ่งแวดล้อม ดิฉันมีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านจุลทรรศนศาสตร์อิเล็กตรอน (electron microscopy) และคาดหวังที่จะเห็นการนำเอากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning electron microscope, SEM) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน (Transmission electron microscopes, TEM) มาใช้มากขึ้นในประเทศไทย

 

คำถาม ในฐานะที่อาจารย์เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) อาจารย์ได้รับประสบการณ์ในการเป็นสมาชิกของ ATPAC อย่างไรบ้าง

สมาคม ATPAC เป็นเครือข่ายนักวิชาชีพไทยที่ดีมากๆ ที่ช่วยเชื่อมโยงพวกเราซึ่งเป็นคนไทยที่มาประกอบอาชีพอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กับนักการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของหน่วงงานรัฐบาลต่างๆ ในประเทศไทย ดิฉันเองได้รับประโยชน์มากมายจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาคม ATPAC ได้ทำงานร่วมกับสมาคม ATPAC ทำให้ดิฉันไม่รู้สึกว่าดิฉันเป็นเพียงคนเดียวที่กำลังพยายามถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในประเทศสหรัฐฯ กลับสู่ประเทศไทย นอกจากนั้น ดิฉันยังได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ และขยายเครือข่ายไปยังนักวิชาชีพท่านอื่นๆ ผ่านสมาคมอีกด้วย

 

ก่อนจบการสัมภาษณ์นี้ ดร. สุภาพรรณ ได้ฝากความคิดเห็นและข้อแนะนำที่น่าสนใจผ่านบทสัมภาษณ์ ดังนี้

ดิฉันขอแบ่งปันบทความที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า “Drain or gain? Poor countries can end up benefiting when their brightest citizens emigrate” ซึ่งลงในนิตยสาร Economist ฉบับวันที่  26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในบทความนำเสนอว่า  นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้พิจารณาและพบว่าทฤษฎีสมองไหล (Brain-drain hypothesis) มองข้ามผลทางบวกจากการโอนเงินข้ามชาติกลับมายังบ้านเกิด ผลกระทบทางบวกที่ได้รับจากผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางกลับบ้านเกิด และโอกาสในการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นในต่างแดน นักวิเคราะห์หลายๆ ท่านกล่าวว่า เมื่อคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้แล้ว การย้ายถิ่นออกจากบ้านเกิดของผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดของคนเหล่านั้นได้ทางหนึ่ง ผู้ที่สนใจอ่านบทความสามารถติดตามอ่านได้ที่เว็ปไซต์ : http://www.economist.com/node/18741763

และอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ คือ การลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่มีราคาสูงเมื่อคำนึงถึงผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องการที่จะมีพลังและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เราจะต้องคิดและมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว และเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนทางการศึกษาและการทำวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น

ดร. สุภาพรรณ ยังคงนำความรู้และประสบการณ์ที่เธอได้รับในประเทศสหรัฐอเมริกากลับไปถ่ายทอดสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 2 – 5 สิงหาคม 2554 เธอและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมีกำหนดเดินทางไปจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Scanning Electron Microscopy (SEM), Transmission Electron Microscopy (TEM) and X-ray Fluorescence Spectroscopy ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Reference : http://www.ostc.thaiembdc.org/interview7.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *