Interview : ดร. สโรช บุญศิริพันธ์

posted in: ATPAC Members Interview | 0

ดร. สโรช บุญศิริพันธ์ กับความท้าทายที่นำไปสู่การพัฒนา

“ การวิจัยสาขาจราจรและขนส่ง เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเจอกันทุกวัน ถือเป็นสาขาที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากปัญหาด้านจราจรขนส่ง และความปลอดภัยบนท้องถนนในแต่ละที่ แต่ละเมืองไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับแต่ละปัญหา ไม่สามารถนำทฤษฎีมาปรับใช้ได้ทันที”

หลังจากที่ ดร. สโรช บุญศิริพันธ์ จบการศึกษาปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. สโรช ได้เริ่มต้นการทำงานในสายวิศวกรรมที่บริษัท Sumitomo Construction Company Ltd (Thailand) ในตำแหน่งวิศวกรโยธา จากนั้น ดร. สโรชได้เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Georgia Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากจบแล้วได้ทำงานเป็นวิศวกรขนส่งที่บริษัทที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมขนส่งและจราจร Grice and Associates Inc. และได้กลับไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ Georgia Institute of Technology ในสาขาเดิม ซึ่งในเวลาต่อมา ดร. สโรชได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยวิศวกรรมที่สถาบันวิจัยดังกล่าว จนในขณะนี้ ดร. สโรช กำลังดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาระบบจราจร สำนักงานวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ด้วยความช่างสังเกตและความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคม ดร. สโรช ได้มุ่งมั่นในการทำวิจัยและพัฒนาด้านการจราจรและขนส่งเสมอมา ผลงานล่าสุดชิ้นหนึ่งที่สามารถยืนยันได้ในความสำเร็จของ ดร. สโรช คือรางวัล Best Paper Award จาก Transportation Research Board (TRB) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี 2553 ซึ่งผลงานการวิจัยด้านระบบการจราจรชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการขับรถที่เปลี่ยนไปของคนอเมริกัน และส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจราจรของสหรัฐฯ หันมาทบทวนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการจราจรบางประการ คอลัมน์ People of the Month เดือนนี้ขอนำเสนอเบื้องหลังและแนวคิดของ ดร. สโรช ที่นำไปสู่การพัฒนาด้านการจราจรและขนส่งในประเทศไทย

 

คำถาม  อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณเลือกที่จะศึกษาและทำงานในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในสาขาที่คุณอยู่ในขณะนี้?

แรงบันดาลใจหรือความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ของผมน่าจะเกิดจากสองส่วน ส่วนแรกคือความเป็นเด็กช่างสงสัยและช่างซักช่างถามของผมเองตั้งแต่เด็ก อีกส่วนหนึ่งคือสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของทางบ้านครับ โดยเฉพาะคุณพ่อจะเน้นการใช้ common sense หรือสามัญสำนึกในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่จะส่งเสริมให้รักการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือทางด้านวิทยาศาสตร์ จำได้ว่าที่บ้านจะมีหนังสือชุดวิทยาศาสตร์ของซีเอ็ดอยู่หลายชุด ผมกับน้องชายจะชอบมากและจะอ่านเล่มละหลายๆ รอบ และพยายามทำการทดลองตามหนังสือด้วย

ส่วนที่เลือกทำวิจัยด้านสาขาจราจรและขนส่ง เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเจอกันทุกวัน งานวิจัยด้านจราจรและขนส่งเป็นสาขาที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากปัญหาด้านจราจรขนส่ง ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในแต่ละที่ แต่ละเมืองจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากพฤติกรรมการขับขี่ ผังเมืองและกฎระเบียบไม่เหมือนกัน ทำให้ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับแต่ละปัญหา ไม่สามารถนำทฤษฎีมาปรับใช้ได้ทันที

 

คำถาม ผลงานชิ้นใดของคุณที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุด หรือชิ้นที่คุณภาคภูมิใจมากที่สุด? เพราะอะไร? และผลงานชิ้นดังกล่าวส่งผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างไร? (ผลงานการวิจัยที่ได้รับรางวัล?)

ผมงานที่ผมภูมิใจที่สุด เป็นงานที่เพิ่งไปรับรางวัล Best Paper Award จาก Transportation Research Board (TRB) ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2553 โดยเป็นบทความเรื่อง Measurement and Comparison of Acceleration and Deceleration Zones at Traffic Control Intersections ที่ได้ทำร่วมกับอาจารย์ที่ Georgia Institute of Technology ในขณะที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่ที่นั่น สาเหตุที่ภูมิใจในผลงานชิ้นนี้เนื่องจากหัวข้อวิจัยนี้เกิดจากความช่างสงสัยของตนเองว่า ปกติเราขับรถและเจอสี่แยกไฟแดง เราจะเริ่มชะลอรถเมื่อไหร่ และเมื่อออกตัวจากสี่แยกไฟแดง เราจะเร่งเครื่องไปจนถึงระยะไหน ซึ่งประโยชน์ของระยะชะลอรถและระยะเร่งเครื่องที่วัดได้ สามารถนำไปใช้ออกแบบสี่แยก สัญญาณไฟจราจร และตำแหน่งป้ายเตือนต่างๆ ได้

เมื่อเกิดความสงสัยแล้ว ผมก็ลองไปเปิดคู่มือมาตรฐานการออกแบบป้ายของสหรัฐอเมริกาดูและใช้หลัก common sense แล้วก็คิดว่า ระยะที่ระบุไว้ในหนังสือน่าจะสั้นกว่าระยะที่คนเราใช้ในการขับขี่จริง

จากนั้นผมก็ได้เอาข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของคนในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียร์มาวิเคราะห์และพบว่า ระยะชะลอรถและเร่งเครื่องที่ระบุไว้ในหนังสือมีค่าสั้นกว่าระยะที่วัดได้จริงของผู้ขับขี่ ตรงตามที่ได้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ ทำให้คณะกรรมการ Operational Effects of Geometrics Committee อาจจะต้องทบทวนคู่มือมาตรฐานการออกแบบป้ายในส่วนของระยะชะลอรถและระยะเร่งเครื่องอีกครั้ง เนื่องจากค่าต่างๆ ที่ใช้ เป็นค่าที่ได้จากการศึกษาเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

 

คำถาม คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาหลักของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และทำอย่างไรเราจึงสามารถแก้ไขหรือพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าเหมือนกับประเทศอื่นๆ?

จากการที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือเด็กไทยที่ไปแข่งขันวิทยาศาสตร์ที่ต่างประเทศสมัยผมยังเรียนอยู่ที่เมือง Atlanta ทำให้ทราบว่า เด็กไทยมีความสามารถมาก และสามารถแข่งขันกับเด็กต่างชาติได้อย่างสูสี ซึ่งจากการสอบถาม เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่ได้โอกาสทางการศึกษาที่ส่งเสริมทักษะการคิดแบบ Critical Thinking ซึ่งปัจจุบัน เด็กไทยส่วนใหญ่ยังได้รับการศึกษาแบบเน้นการท่องจำ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ต่อยอดความรู้แบบต่างชาติได้ ดังนั้น ผมจึงอยากให้ประเทศไทยแก้ไขที่วิธีการเรียนการสอน เปิดโอกาสและกระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นในห้องเรียนให้มากกว่านี้ และเน้นภาคปฏิบัติเพื่อให้เด็กเข้าใจและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง

 

คำถาม จากการที่คุณได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานในหลายๆ ประเทศ คุณมีแนวคิดหรือวิธีการในการที่จะช่วยส่งเสริมหรือพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวงการวิทยาศาสตร์และเทคโลยีของประเทศไทย?

สิ่งที่ผมประทับใจจากการเห็นระบบการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ คือการที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาสนับสนุนเยาวชนและนักศึกษาให้มีโอกาสได้คลุกคลีกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยจริงๆ เช่น การจัด Internship Program, Summer Camp และการที่มหาวิทยาลัยทำ Outreach เพื่อแนะนำและอธิบายให้เด็กรู้จักการทำวิจัยในสาขาต่างๆ

ดังนั้นในฐานะที่ผมทำงานในสำนักวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงมีแผนที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้และพัฒนาบุคลากรภายนอกโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานวิจัยด้านการจราจรและขนส่ง โดยในขณะนี้ ได้นำเรียนหารือกับผู้บังคับบัญชา ถึงการจัด Research Internship Program เพื่อพัฒนาให้นักเรียน นักศึกษามีความรู้และทักษะในการทำวิจัยทางด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง โดยการให้มาช่วยทำงานวิจัยจริงๆ ที่ทางสำนักวิจัยฯ ได้ดำเนินการศึกษาอยู่ ผู้เข้ารับการฝึกงานจะได้รับมอบหมายให้ทำงาน นำเสนอผลงานและแสดงความเห็นในที่ประชุม เพื่อฝึกให้เด็กเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มีความมั่นใจ และกล้าคิด กล้าทำ

 

คำถาม คุณมีอะไรที่อยากจะประชาสัมพันธ์ผ่านทางเวบไซต์และสื่ออื่นๆ ของ OSTC หรือไม่?

สืบเนื่องจากงานเลี้ยงรับรองคณะนักวิจัยและวิศวกรด้านคมนาคมขนส่ง ที่จัดโดยสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ผมได้เสนอต่อคณะผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงฯ ในการจัดตั้งเครือข่ายนักวิชาชีพทางด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการทำงาน การทำวิจัย โอกาสในการสมัครงาน สมัครเรียนและข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ ทางด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งในและต่างประเทศ โดยจะใช้ Social Networking เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ในขณะนี้ผมได้จัดทำ webpage ของเครือข่ายฯ นี้บน facebook มีชื่อว่า Thai Transportation Engineering Network (T-TEN) จึงขอเรียนเชิญวิศวกรด้านคมนาคมขนส่งหรือผู้ที่สนใจจะไปเรียนต่อทางด้านนี้ สามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ได้เลยครับ ส่วนบริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ทุนการศึกษา ทุนวิจัย หรือประกาศรับสมัครงานสามารถทำได้บน T-TENเช่นเดียวกันครับ

Reference : http://www.ostc.thaiembdc.org/interview3.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *