เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณ Friend of Thai Science 2023 ให้แก่ รศ.ดร. วีระ จันทร์คง ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) ในงานประชุมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ณ โรงแรม Denver Marriott Tech Center นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้มอบรางวัล โดยมีท่านเอกอัครราชทูต ประจำกรุงวอชิงตัน และผู้เข้าร่วมงานประชุมฯ ได้เข้าร่วมแสดงความยินดี รศ.ดร. วีระ จันทร์คง ซาบซึ้งและขอขอบคุณมายังท่านปลัด อว. ที่ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และกล่าวว่ารางวัลนี้ถือเป็นรางวัลของสมาชิก ATPAC ทุกคนที่ได้คอยร่วมมือร่วมแรงกันทำงานอย่างหนักด้วยกันตลอดมาเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาประเทศไทย
สำนักงานที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินกิจกรรมการมอบรางวัล Friend of Thai Science มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ให้แก่ผู้ที่มีผลงานและความเชี่ยวชาญที่มีความโดดเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่บุคคลที่ได้รับรางวัล โดยระหว่างปี 2560 – 2565 ได้มอบรางวัลให้แก่บุคคลในทวีปอเมริกาแล้ว จำนวน 10 ท่าน เป็นบุคคลสัญชาติอเมริกัน 9 ท่าน และสัญชาติแคนาดา 1 ท่าน สามารถอ่านประวัติและรายชื่อ Friend of Thai Science ของแต่ละปีได้ที่ https://www.ohesdc.org/friend-of-thai-science-award
สำหรับ Friend of Thai Science ปีนี้ รศ.ดร. วีระ จันทร์คง เป็นนักวิชาชีพไทยในด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ทำงานในสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ของไทยให้พัฒนาก้าวหน้า และการบริหารกิจกรรมของสมาคม ATPAC มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี
โครงการ UDLP Project for Khon Kaen University
เป็นหัวหน้าโครงการ UDLP ทำโครงการระหว่าง Case Western Reserve University กับNew Jersey Institute of Technology ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสร้างสาขาวิชา Biomedical Engineering กับสาขาHazardous Waste Management ให้กับประเทศไทย โดยได้ขอเงินจาก USAID ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้งบประมาณมาทำโครงการให้ประเทศไทยเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 42 ล้านบาท) ทั้งสองหลักสูตรนี้เป็นสาขาใหม่ที่ไม่มีในประเทศไทยและมีความสำคัญมากกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยโดยที่ Case Western Reserve University รับผิดชอบสาขา Biomedical Engineering และNew Jersey Institute of Technology รับผิดชอบสาขาHazardous Waste Management ทั้งสองหลักสูตรนี้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและ Hazardous Waste Management เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิจัย และการสร้างบัณฑิต ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและ Hazardous Waste Management ให้กับประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2539
Director of RBD at NSTDA
รศ.ดร. วีระฯ ได้ลางานหนึ่งปี (Took Sabbatical Leave) จาก Case Western Reserve University เพื่อไปช่วยงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโครงการสมองไหลกลับของสวทช. เป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อช่วยเชิญชวนและจัดวางระบบในการสรรหาผู้เชี่ยวชาญคนไทยในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศไทย และได้สามารถเชิญชวนให้คนไทยย้ายกลับไปทำงานที่ประเทศไทยได้หลายท่าน ซึ่งท่านเหล่านี้ได้สร้างเทคโนโลยีใหม่ให้กับประเทศไทยในหลากหลายสาขาซึ่งช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมของไทย
Center of Excellence
ริเริ่มสร้างโครงการศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ให้กับทบวงมหาวิทยาลัย (Ministry of Higher Education) ใช้งบประมาณทั้งหมดรวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank -ADB) เป็นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่คณะทำงานร่วมกันวางกฎในการคัดเลือกและจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ๗ ศูนย์ ในมหาวิทยาลัยของไทยโดยจัดตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ศูนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ศูนย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตร ศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 7 แห่งเป็นศูนย์รวมของการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิจัย และการสร้างบัณฑิต ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้กับประเทศไทย โครงการนี้ผลิตบัณฑิตให้กับประเทศไทยหลายพันคนในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา รศ.ดร. วีระฯ เป็นแกนนำที่สำคัญในการทำโครงการนี้จนประสบความสำเร็จดังที่เห็นทุกวันนี้
โครงการABET
หลักสูตรการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยถึงแม้จะมีระบบประกันคุณภาพของไทยแต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ในปี 2557 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ร่วมมือกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC – Association of Thai Professionals in America and Canada) เพื่อช่วยให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไทยให้ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยประกันคุณภาพการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่รู้จักกันในชื่อว่า ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) ทำให้หลักสูตรการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับตามระบบสากลเป็นครั้งแรกโดยที่ไทยเราเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายในเอเซียที่ผ่านการประกันคุณภาพนี้และทำให้มาตรฐานอาชีพวิศวกรรมของไทยสามารถเป็นที่ยอมรับของกลุ่มประเทศ APEC และของ Washington Accord ด้วย
Leave a Reply